Home -> Academics........


       ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดสอนในระดับปริญญาตรีทั้งหมด 5 หลักสูตร
โดยหลักสูตรทั้งหมดสังกัดคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ วิทยาเขตตรัง ดังนี้

- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการบัญชี)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการบัญชี)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการประกันภัย)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาการบัญชีต่อเนื่อง 2 ปี)
และจะเปิดสอนเพิ่มในปีการศึกษา 2548   3 หลักสูตร ดังนี้
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การตลาด)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การบริหารการท่องเที่ยว)
- หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์)

   ในระดับบัณฑิตศึกษา 1 หลักสูตร ดังนี้
- รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต
ดูรายละเอียดของหลักสูตร ในระดับบัณฑิตศึกษาที่ http://www.psu.ac.th/graduate/index.php (บัณฑิตวิทยาลัย)




   หลักสูตร การจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์

   ชื่อหลักสูตร
       ชื่อเต็ม บริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์)
                Bachelor of Business Administration (Information and Computer Management)
       ชื่อย่อ บธ.บ(การจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์)
                B.B.A.(Information and Computer Management)

   ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       หลักการและเหตุผล
สืบเนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology : ICT) ทำให้ธุรกิจทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ "สารสนเทศ" กลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีบทบาทต่อธุรกิจ ซึ่งทรัพยากรสารสนเทศที่ธุรกิจต้องการนั้น ต้องมีคุณภาพ สมบูรณ์ เป็นปัจจุบัน และตรงกับความต้องการ เพื่อให้ธุรกิจใช้ประโยชน์จากสารสนเทศได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับทรัพยากรอื่นในองค์กร สารสนเทศจำเป็นต้องมีการจัดการเพื่อให้มีคุณสมบัติดังกล่าว ซึ่งกระบวนการจัดการนี้ จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นเครื่องมือ

       สำหรับการจัดการสารสนเทศมีบุคคลเกี่ยวข้องกับการทำงานนี้หลายกลุ่ม ทำให้การผลิตนักสารสนเทศในปัจจุบัน มีหลายแขนงอาชีพด้วยกัน อาทิ กลุ่มที่เน้นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มที่เน้นระบบสารสนเทศ เช่น ระบบสารสนเทศคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ และกลุ่มที่เน้นการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ เช่น บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ และวารสารศาสตร์ แต่องค์กรธุรกิจโดยทั่วไปมีความต้องการบุคลากรซึ่งมีความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความรู้เรื่องระบบงานธุรกิจ และมีความสามารถจัดการทรัพยากรสารสนเทศ โดยมุ่งเน้นที่กระบวนการวิเคราะห์ จัดโครงสร้าง จัดเก็บ เผยแพร่ สารสนเทศ รวมถึงความสามารถในการพัฒนาระบบสารสนเทศ ตลอดจนทำหน้าที่เชื่อมโยง ประสานความเข้าใจระหว่างนักสารสนเทศแต่ละกลุ่ม เพื่อผลิตสารสนเทศที่มีประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรและธุรกิจ

       มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง จึงได้จัดทำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ขึ้น โดยผลิตบัณฑิตที่มีความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความรู้เรื่องระบบงานธุรกิจ และมีความสามารถในการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของระบบธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต
       ปรัชญาของหลักสูตร
       หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ เป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตซึ่งมีความรู้ด้านหลักการและโครงสร้างของศาสตร์ทางธุรกิจ มีความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงวิทยาการคอมพิวเตอร์ มีทักษะในการจัดการสารสนเทศทั้งทางด้านทฤษฎีและทางด้านปฏิบัติ พร้อมความสามารถในด้านการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ มีจริยธรรมและคุณธรรมที่ดีงาม พร้อมนำความรู้ออกไปรับใช้สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
       วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       1.เพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาการจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ ที่มีความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความรู้ด้านธุรกิจ มีความสามารถในการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ โดยมุ่งเน้นที่กระบวนการในการพัฒนาระบบสารสนเทศ พร้อมที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
       2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก สามารถนำวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนางานในองค์การ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำวิชาชีพ
       3. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีจริยธรรมและคุณธรรมในการประกอบวิชาชีพ อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
       4. เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านการจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ให้แก่ นักศึกษาในภาคใต้ และนักศึกษาทั่วไป
=====>>>        รายวิชาที่ต้องศึกษา        ประมาณการค่าธรรมเนียม        วิธีการเข้าศึกษา





   หลักสูตร การบัญชี

   ชื่อหลักสูตร
       ชื่อเต็ม บริหารธุรกิจบัณฑิต (การบัญชี)
                Bachelor of Business Administration (Accounting)
       ชื่อย่อ บธ.บ(การจัดการบัญชี)
                B.B.A.(Accounting)

   ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       หลักการและเหตุผล
วิชาชีพบัญชีถือเป็นสาขาหนึ่งของธุรกิจวิชาชีพ ที่สถาบันและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ยังให้ความสำคัญและมีความต้องการมากในปัจจุบัน เพราะวิชาชีพบัญชีโดยนักบัญชีจะจัดทำบัญชีและเสนอรายงานทางการเงินขององค์กร รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ฝ่ายบริหารใช้ในการวางแผน ควบคุม ตลอดจนการตัดสินใจ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มคุณค่าที่ตอบสนองทิศทางการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันการประกอบวิชาชีพบัญชีได้ขยายครอบคลุมออกไปหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำบัญชี การสอบบัญชี การวางระบบบัญชี การให้คำปรึกษาด้านบัญชี หรือบริการด้านอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในทางธุรกิจต่าง ๆ มากมาย ดังนั้น คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพนี้ ให้มีความรู้ความสามารถเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคตต่อไป จึงเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี
       ปรัชญาของหลักสูตร
       หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี เป็นหลักสูตรผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านวิชาชีพบัญชี เพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาชีพ ในการบริหารจัดการทางด้านการบัญชีตลอดจนมีทักษะในการศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการ การตัดสินใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
       วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       1. เพื่อผลิตบัณฑิต ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาชีพบัญชี สามารถนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรมและยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
       2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและใฝ่รู้ ให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก สามารถนำวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนางานในองค์การ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำวิชาชีพ
       3. เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับปริญญาตรีทางวิชาชีพบัญชีให้แก่ นักศึกษาในภาคใต้ และนักศึกษาทั่วไป
=====>>>        รายวิชาที่ต้องศึกษา        ประมาณการค่าธรรมเนียม        วิธีการเข้าศึกษา





   หลักสูตร ระบบสารสนเทศทางการบัญชี

   ชื่อหลักสูตร
       ชื่อเต็ม บริหารธุรกิจบัณฑิต (ระบบสารสนเทศทางการบัญชี)
                Bachelor of Business Administration Program (Accounting Information System)
       ชื่อย่อ บธ.บ. (ระบบสารสนเทศทางการบัญชี)
                B.B.A.(Accounting Information System)

   ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันธุรกิจนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดการสารสนเทศทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การตลาด การผลิต การจัดการทรัพยากรมนุษย์ และการบัญชี ทำให้ตลาดแรงงานมีความต้องการบัณฑิตที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารเทศมากขึ้น บัณฑิตบัญชีโดยส่วนใหญ่ แม้จะมีความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพ แต่ก็ยังขาดความรู้ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ขาดการเชื่อมโยงระหว่างระบบบัญชีกับระบบสารสนเทศด้านอื่น ๆ ของธุรกิจ จึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
       มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง จึงได้จัดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการบัญชี เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพบัญชีและระบบสารสนเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต
       ปรัชญาของหลักสูตร
       หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการบัญชี เป็นหลักสูตรผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านวิชาชีพบัญชีควบคู่กับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้ทั้งสองด้าน ในการบริหารจัดการทางด้านการบัญชีตลอดจนมีทักษะในการศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการ การตัดสินใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
       วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       1. เพื่อผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาชีพบัญชี ควบคู่กับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารจัดการทางด้านบัญชีอย่างมีประสิทธิภาพ
       2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการ สามารถนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรมและยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
       3. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก สามารถนำวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนางานในองค์การ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำวิชาชีพ
       4. เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านสารสนเทศทางการบัญชีให้แก่ นักศึกษาในภาคใต้ และนักศึกษาทั่วไป
=====>>>        รายวิชาที่ต้องศึกษา        ประมาณการค่าธรรมเนียม        วิธีการเข้าศึกษา





   หลักสูตร การประกันภัย

   ชื่อหลักสูตร
       ชื่อเต็ม บริหารธุรกิจบัณฑิต (การประกันภัย)
                Bachelor of Business Administration (Insurance)
       ชื่อย่อ บธ.บ. (การประกันภัย)
                B.B.A. (Insurance)

   ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       หลักการและเหตุผล
       ธุรกิจประกันชีวิตและวินาศภัย เป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยสร้างหลักประกันและช่วยบรรเทาความเสียหายทางการเงินจากความเสี่ยงภัยต่างๆ ให้กับบุคคล ครอบครัวและธุรกิจการค้าการลงทุน รวมทั้งช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในด้านสวัสดิการและการสงเคราะห์ประชาชนผู้ประสบภัย นอกจากนี้ธุรกิจประกันชีวิตยังเป็นสถาบันระดมเงินออมจากภาคครัวเรือนภายในประเทศ ซึ่งสามารถนำมาจัดสรรลงทุนในธุรกิจอื่นๆ จึงเป็นแหล่งระดมเงินออมที่มีผลต่อการขยายตัวและการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมได้มีอย่างประสิทธิภาพ กอปรกับนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันชีวิต และนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยของรัฐบาล ทำให้มีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุน ส่งผลให้ระบบการบริหารจัดการและการให้บริการปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานในระดับสากลมากขึ้นทั้งในด้านคุณภาพและต้นทุนประกอบการ
       จากเหตุผลดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจประกันภัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต คือ การเปลี่ยนแปลงราคาและรูปแบบกรมธรรม์ การมีช่องทางการตลาดใหม่ เช่น การขายผ่านธนาคาร การซื้อตรงผ่านอินเตอร์เน็ต การซื้อตรงที่บริษัท เป็นต้น การเน้นความสำคัญกับการบริการ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในธุรกิจประกันภัยอย่างถูกต้องและมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจนี้เติบโตขึ้นและเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในสาขาการประกันภัย
       โครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว จึงเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการประกันภัย เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ ตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรมและยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ในการบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจประกันภัย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในปัจจุบันและอนาคต
       ปรัชญาของหลักสูตร
       หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการประกันภัย เป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถทั้งทางทฤษฎีและสามารถประยุกต์ใช้หลักวิชาการประกันภัย รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรมและมีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ ในการบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจประกันภัย และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
       วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       1. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถทั้งทางทฤษฎีด้านการประกันภัย และการบริหารจัดการ
       2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถในการประยุกต์ใช้หลักวิชาการประกันภัย ในการบริหารจัดการและพัฒนาธุรกิจประกันภัย
       3. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถและใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและสามารถใช้ความรู้พื้นฐานที่นำไปสู่การศึกษาและการพัฒนาความรู้ที่สูงขึ้นทันต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการประกันภัย
       4. เพื่อผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การขยายตัวทางธุรกิจ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ
       5. เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชาการประกันภัยในระดับภูมิภาค
       6. เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ
=====>>>        รายวิชาที่ต้องศึกษา        ประมาณการค่าธรรมเนียม        วิธีการเข้าศึกษา





   หลักสูตร การตลาด

   ชื่อหลักสูตร
       ชื่อเต็ม บริหารธุรกิจบัณฑิต (การตลาด)
                Bachelor of Business Administration (Marketing)
       ชื่อย่อ บธ.บ. (การตลาด)
                B.B.A. (Marketing)

   ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       หลักการและเหตุผล
       เนื่องจากเศรษฐกิจในปัจจุบันมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น กอปรกับนโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐได้มุ่งเน้นในเรื่องของการกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยใช้มาตรการที่สำคัญคือ การพัฒนาธุรกิจพร้อมกันทั้งระบบโดยที่เริ่มต้นตั้งแต่ระดับรากหญ้าขึ้นมา ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ซึ่งวิธีการดำเนินงานสะท้อนออกมาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้การสนับสนุนการลงทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่รู้จักกันในนาม SMEs นอกจากนี้ยังมีธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMCE (Small and Micro Community Enterprise) ธุรกิจกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและมีจำนวนมาก เป็นกลุ่มพื้นฐานของการพัฒนาธุรกิจแบบพอเพียงที่เกิดจากการรวมตัวของชุมชนต่างๆ เพื่อผลิตสินค้าและบริการเพื่ออุปโภคบริโภคกันเองในชุมชน ซึ่งในการที่จะพัฒนาประเทศและสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจนั้น ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ การเตรียมความพร้อมพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
       หนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่จะช่วยให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคงได้อย่างยั่งยืนนั้น คือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ คู่คุณธรรม และมีศักยภาพเพียงพอ สามารถนำแนวคิดไปใช้ในเชิงบูรณาการ ผลักดันให้มีการนำวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญาของชุมชนมาใช้ให้เหมาะสมตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น มาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการดำเนินงานทางธุรกิจ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศ ภูมิภาค และท้องถิ่น สามารถเข้าสู่การแข่งขันในระบบธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งวิชาทางด้านการตลาดเป็นหนึ่งในศาสตร์ทางธุรกิจที่เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทสำคัญ ในการผลักดันธุรกิจให้มีศักยภาพในการแข่งขัน
       ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญในการผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางการตลาดจึงมีแนวคิดจัดทำหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาการตลาด เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต
       โดยจะเน้นให้บัณฑิตสาขาวิชาการตลาดของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความรู้ความสามารถทางวิชาการด้านการตลาด และสามารถนำความรู้นั้น ไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักการตลาด ที่มีศักยภาพและมีจริยธรรม พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เกิดการพัฒนาและมั่นคงอย่างยั่งยืนในยุคโลกาภิวัตน์
       ปรัชญาของหลักสูตร
       หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการการตลาด เป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตซึ่งมีความรู้ด้านหลักการและโครงสร้างของศาสตร์ทางธุรกิจ มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ทางด้านการตลาด รวมถึงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและทางด้านปฏิบัติควบคู่กันได้อย่างเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน พร้อมทั้งนำความสามารถในด้านการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ มีจริยธรรมและคุณธรรมที่ดีงาม พร้อมนำความรู้ออกไปรับใช้สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
       วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       1. เพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาการตลาด ที่มีความรู้ความเข้าใจทางวิชาการในสาขาวิชาการตลาด ทั้งในด้านการศึกษา การค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ในสาขาวิชาการตลาด
       2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมในการนำความรู้ทางด้านการตลาด ทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงทักษะทางด้านภาษาอังกฤษไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการตลาดต่างๆ ในปัจจุบัน
       3. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีแนวคิดเชิงบูรณาการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำวิชาชีพ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก สามารถนำวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้ในการปรับปรุง พัฒนางานในองค์การ และสังคมส่วนรวมให้เจริญก้าวหน้า
       4. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีจริยธรรมและคุณธรรมในการประกอบวิชาชีพ อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
=====>>>                ประมาณการค่าธรรมเนียม        วิธีการเข้าศึกษา





   หลักสูตร การบริหารการท่องเที่ยว

   ชื่อหลักสูตร
       ชื่อเต็ม บริหารธุรกิจบัณฑิต (การบริหารการท่องเที่ยว)
                Bachelor of Business Administration (Tourism Management)
       ชื่อย่อ บธ.บ. (การบริหารการท่องเที่ยว)
                B.B.A. (Tourism Management)

   ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       หลักการและเหตุผล
       การท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมหลักประเภทหนึ่งของประเทศไทยที่สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศนับแสนล้านบาทในแต่ละปี โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เนื่องจากการท่องเที่ยวของไทยมีจุดเด่นที่เอื้ออำนวยต่อการจูงใจนักท่องเที่ยวหลายประการ อาทิ แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและหลากหลาย ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงาม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ส่งผลให้เกิดธุรกิจหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างมากมายที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร ธุรกิจนำเที่ยวและบริการ ธุรกิจการขนส่ง เป็นต้น ก่อให้เกิดการค้า การลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด นอกจากปัจจัยที่กล่าวแล้วข้างต้นที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งด้านรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลนับเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในการส่งเสริมและกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก้าวหน้า สามารถสร้างรายได้และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่ภาคส่งออกมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากต้องขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ประกอบกับเหตุการณ์ก่อการร้ายที่อาจจะยังมีอยู่ ทำให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การท่องเที่ยวคงความเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศในการเสริมสร้างรายได้และเศรษฐกิจต่อไป
       มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยว จึงได้จัดทำหลักสูตรการบริหารการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยมุ่งผลิตบัณฑิตทางด้านการท่องเที่ยวที่มีความรู้และทักษะในวิชาชีพอย่างดี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพและรับใช้สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
       ปรัชญาของหลักสูตร
       หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการท่องเที่ยว มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญทางด้านการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว โดยสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและทางด้านปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับความรู้ความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ซึ่งสามารถทำงานได้ทั้งในองค์กรธุรกิจ ภาครัฐ และ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานธุรกิจ รวมถึงการประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่มีความสำคัญในการผลิตบัณฑิตเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
       วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       1. เพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาการท่องเที่ยว ที่มีความรู้ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารธุรกิจท่องเที่ยว โดยสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและทางด้านปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม
       2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความพร้อมในการนำความรู้ทางด้านการบริหารการท่องเที่ยว ทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงทักษะทางด้านภาษาอังกฤษไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการประกอบอาชีพได้ทั้งในองค์กรธุรกิจหน่วยงานราชการ และสามารถเป็นผู้ประกอบการได้
       3. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีจริยธรรมและคุณธรรมในการประกอบวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
=====>>>                ประมาณการค่าธรรมเนียม        วิธีการเข้าศึกษา





   หลักสูตร การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

   ชื่อหลักสูตร
       ชื่อเต็ม บริหารธุรกิจบัณฑิต (การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์)
                Bachelor of Business Administration (Electronic Commerce)
       ชื่อย่อ บธ.บ. (การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์)
                B.B.A. (Electronic Commerce)

   ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       หลักการและเหตุผล
       เทคโนโลยีใหม่ด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการสื่อสาร รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพ และพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ก่อให้เกิดกิจกรรมใหม่ ๆ ในทางเศรษฐกิจและสังคมอันส่งผลต่อการดำรงอยู่และการพัฒนาประเทศต่าง ๆ ในโลก จนเกิดความเลื่อมล้ำมากขึ้นโดยลำดับ ก่อให้เกิดช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างประเทศต่าง ๆ และช่องว่างนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ความก้าวหน้าของประเทศต่าง ๆ แตกต่างกัน แต่ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสังคมในประเทศอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงจัดทำแผนแม่บท นโยบายเทคโนโลยีสารเทศของประเทศไทย ระยะ พ.ศ. 2544 - 2553 ซึ่งได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารเทศของประเทศไทยไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ e-Government e-Industry e-Education e-Society และ e-Commerce เมื่อนำกลยุทธ์ทั้งห้ามาดำเนินการการ ประสานสัมพันธ์และเชื่อมโยงการดำเนินการของแต่ละกลุ่มด้วยการวางแผนและการปฏิบัติที่รอบคอบ บนพื้นฐานของปัจจัยสำคัญอีก 3 ด้าน คือ การสร้างทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมนวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและอุตสาหกรรมสารสนเทศ ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ประกอบกับในปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้เข้ามามีบทบาทให้การสนับสนุนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มที่ โดยมีหน่วยงานที่ชื่อ ศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Commerce Resource Center) ซึ่งเปิดเว็บไซต์ให้ข้อมูลข่าวสารที่ www.e-commerce.or.th ตัวอย่างเช่น ข่าวการประชุมสัมมนาที่เกี่ยวข้อง หรือร่างพระราชบัญญัติใหม่ ๆ ในด้าน Electronic รวมทั้งการแจกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประโยชน์ เป็นต้น เกิดความเคลื่อนไหวมากมายทั้งภาครัฐและเอกชนในการนำระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในองค์กร ตัวอย่างเช่น ระบบอีดีไอกรมศุลกากร (Customs Dept. EDI System) ซึ่งเริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2541 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI จัดโครงการนำร่องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และโครงการไทยทัศน์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทยร่วมกับบริษัทการบินไทย ในโครงการการจองตั๋วเครื่องบินผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ในฐานะของสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้สอดรับกับกลยุทธ์การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารเทศของประเทศไทย รวมถึงความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จึงพัฒนาหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับนักศึกษาโดยเน้นให้ความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับภาครัฐและเอกชนต่อไป
       ปรัชญาของหลักสูตร
       หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตซึ่งมีความรู้ ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ความรู้ด้านหลักการและโครงสร้างของศาสตร์ทางธุรกิจ สามารถนำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้กับระบบงานธุรกิจ พร้อมความสามารถในด้านการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ มีจริยธรรมและคุณธรรมที่ดีงาม พร้อมนำความรู้ออกไปรับใช้สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
       วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       1. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ควบคู่ความรู้ด้านหลักการและโครงสร้างของศาสตร์ทางธุรกิจ เช่น การตลาด การเงิน และเศรษฐศาสตร์ พร้อมที่จะนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
       2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก สามารถนำวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนางานในองค์การ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำวิชาชีพ
       3. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีจริยธรรมและคุณธรรมในการประกอบวิชาชีพ อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
       4. เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ นักศึกษาในภาคใต้ และนักศึกษาทั่วไป
=====>>>                ประมาณการค่าธรรมเนียม        วิธีการเข้าศึกษา





   หลักสูตร การบัญชี(ต่อเนื่อง)

   ชื่อหลักสูตร
       ชื่อเต็ม บริหารธุรกิจบัณฑิต (การบัญชี)
                Bachelor of Business Administration (Accounting)
       ชื่อย่อ บธ.บ. (การบัญชี)
                B.B.A.(Accounting)

   ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       หลักการและเหตุผล
       วิชาชีพบัญชีเป็นสาขาหนึ่งของธุรกิจวิชาชีพ ที่สถาบันและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ยังให้ความสำคัญและมีความต้องการมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันการประกอบวิชาชีพบัญชีได้ขยายครอบคลุมออกไปหลายด้านไม่ว่าการทำบัญชี การสอบบัญชี การวางระบบบัญชี หรือบริการด้านอื่นๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกิจกรรมในทางธุรกิจต่างๆ มากมาย และเนื่องจากพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ได้กำหนดคุณลมบัติของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี สำหรับธุรกิจต่างๆ ต้องมีความรู้ทางการบัญชีในระดับปริญญาตรี ดังนั้น คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพนี้ ให้มีความรู้ความสามารถเพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคตต่อไป อีกทั้งเพื่อสนองนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษา ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ถือเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษา จึงได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้นเพื่อรองรับผู้ที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาการบัญชี หรือเทียบเท่า ให้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี
       ปรัชญาของหลักสูตร
       หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี เป็นหลักสูตรผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านวิชาชีพบัญชี เพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้ทางด้านวิชาชีพ ในการบริหารจัดการทางด้านการบัญชีตลอดจนมีทักษะในการศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการ การตัดสินใจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
       วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
       1. เพื่อผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีที่มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาชีพบัญชี สามารถนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนมีคุณธรรมจริยธรรมและยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ อันเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
       2. เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถและใฝ่รู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สามารถปรับตัวให้ทันต่อการ เปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก สามารถนำวิทยาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้ในการปรับ ปรุงและพัฒนางานในองค์การ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นผู้นำวิชาชีพ
       3. เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาระดับปริญญาตรีทางวิชาชีพบัญชีให้แก่ ผู้ที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชา ชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาการบัญชี หรือเทียบเท่าให้สามารถประกอบวิชาชีพนักบัญชี ตามพระราชบัญญัติ การบัญชี 2543 ได้
=====>>>        รายวิชาที่ต้องศึกษา        ประมาณการค่าธรรมเนียม        วิธีการเข้าศึกษา